วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2552

เด็กแว้น...ปัญหาสังคม...ปัญหาครอบครัว...รักและโลภ

“สิ่งที่วัยรุ่นอยากได้สามอันดับแรกคือ โทรศัพท์มือถือ รถมอเตอร์ไซค์ และปืน”


คำบอกเล่าถึงสามสิ่งที่เด็กวัยรุ่นชายอายุเพิ่งทำบัตรประชาชนเป็นครั้งแรกต้องการได้ครอบครองผ่านนักวิจัยอย่าง ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เต็มไปด้วยความวิตกกังวล ถึงแม้ว่าสองสิ่งแรกเสมือนไร้พิษภัยเมื่อเทียบกับอาวุธปืน หากแต่พิจารณาอย่างจริงจังจะพบว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ หากนำไปใช้ในทางที่ผิดจะก่ออันตรายมหาศาล โดยเฉพาะรถมอเตอร์ไซด์

การค้นหาสาเหตุว่าทำไมความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ หรือเงิน ไม่ใช่สิ่งที่เด็กวัยรุ่นอยากได้เท่ากับการครอบครองรถมอเตอร์ไซด์สักคัน ได้ทำให้อาจารย์นำตัวเองเข้าไปใช้ชีวิตร่วมกับกลุ่มเด็กวัยรุ่นเหล่านั้น เพื่อจะได้สามารถอธิบายที่มา วิธีคิด การให้ความหมายและคุณค่าต่อรถมอเตอร์ไซค์ที่เด็กวัยรุ่นยึดถือ ซึ่งอาจารย์ปนัดดาบอกว่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่อาจารย์ได้เข้าใจนั้น สามารถสะท้อนภาพสังคมวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีการดำเนินชีวิตหรือโลกของเด็กวัยรุ่นที่ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจได้เป็นอย่างดี “บริบททางสังคมและวัฒนธรรมมีผลมากต่อการสร้างพฤติกรรมนักบิด และนิยมความรุนแรงในเด็กวัยรุ่น นานวันไปก็ทำให้วิถีแห่งวัฒนธรรมที่ไม่ปลอดภัยนี้กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปในที่สุด แม้แรกเริ่มพ่อแม่จะตัดสินใจซื้อรถมอเตอร์ไซด์ให้ลูกไว้ใช้เป็นยานพาหนะไปเรียนหนังสือ หรือซื้อกับข้าวในตลาด หรือกระทั่งใช้มอเตอร์ไซค์เป็นสิ่งต่อรองกับลูกให้กระทำในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการก็ตามที” พร้อมได้ยกตัวอย่างคุณแม่ท่านหนึ่งที่หัดลูกให้ขี่รถมอเตอร์ไซค์ตั้งแต่อายุเพียง 9 ขวบว่า อยากให้ลูกขับมอเตอร์ไซด์เป็นจะได้ช่วยไปซื้อของร้านค้าได้

เช่นเดียวกับเหตุผลของคุณแม่อีกท่านหนึ่งที่ซื้อรถมอเตอร์ไซด์ให้ลูกอายุ 13 ปีโดยในกรณีนี้ต้องอ้อนแม่มานานกว่า 1 ปี ว่า “จะให้เขารีบกลับมาบ้านเพื่อช่วยทำงานบ้าน และจะได้ขี่รถไปโรงเรียนไม่ต้องลำบาก” “บางครอบครัวใช้รถมอเตอร์ไซด์เป็นเครื่องมือยืนยันความรักของตนเองที่มีต่อลูก ควบคู่กับความหวังว่าลูกจะตอบแทนในสิ่งที่พวกเขาต้องการในลักษณะพิธีกรรมแลกเปลี่ยน(Exchange rituals) ด้วย ดังน้าชายเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งเอ่ยถึงแม่ที่มีอาชีพขายไก่ย่างริมบาทวิถีและออกเงินกู้นอกระบบว่า ลูกไม่รู้หรอกว่าแม่ขาดความรัก มันอยากให้ลูกรักมัน ลูกอยากได้รถมันก็ซื้อรถให้ โทรศัพท์เครื่องเป็นหมื่นก็ซื้อให้”

ผศ.ดร.ปนัดดาเล่า อย่างไรก็ดี รถมอเตอร์ไซด์ที่พ่อแม่ซื้อให้เป็นของขวัญหลังทนเสียงออดอ้อนรบเร้าไม่ไหวเหล่านั้น ก็เกือบจะคร่าชีวิตลูกรักให้จากไปได้เช่นกัน ดังกรณีเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งขับรถซิ่งบนถนนพบพระแล้วชนกับรถมอเตอร์ไซค์อีกคันจนสลบคาที่ และไม่รู้สึกตัวนานถึง 3 วัน

ทั้งนี้ นับแต่เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเด็กวัยรุ่นในโลกของนักบิดตั้งแต่ปลายปี 2546 จนถึงปัจจุบัน ผศ.ดร.ปนัดดาระบุว่า รถมอเตอร์ไซค์เปลี่ยนชีวิตเด็กและเยาวชนไทยไปในทางเลวร้ายขึ้นมาก

ดังผลสรุปการศึกษาวิจัยที่พบว่า
  1. ทำให้เด็กเดินเข้าสู่เส้นทางอาชญากรรมเต็มตัว ไม่ตายก็ติดคุก

  2. เข้าสู่กระบวนการกดขี่ขูดรีดแรงงาน

  3. สร้างครอบครัวที่อ่อนแอ

  4. เข้าสู่กระบวนการกลายเป็นนักเที่ยวราตรี กลุ่มเสี่ยงทางการแพทย์ และ

  5. สร้างชื่อประกาศตนเป็นนักเลงรุ่นโตและนักพนัน


“ปรากฏการณ์ความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นชัดเจนยิ่งในชุมชนที่อ่อนแอด้วยอบายมุขและมีต้นทุนทางสังคมน้อย โดยช่วงเย็นหลังโรงเรียนเลิกจะชัดเจนมากจากการที่กลุ่มเด็กและเยาวชนชายในชุมชนทั้งยังเรียนอยู่ และพ้นสภาพนักเรียน รวมถึงกลุ่มทำงานแล้วจะทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน โดยเฉพาะการขี่รถมอเตอร์ไซด์เที่ยวโฉบไปมาระหว่างบ้านเพื่อนในชุมชน นั่งแต่งรถมอเตอร์ไซด์ในกลุ่มเพื่อน ขับรถมอเตอร์ไซค์แข่งกันประลองความเร็วบนถนนภายในชุมชนและถนนเลียบคลองชลประทาน หรือไม่ก็จับกลุ่มกันเล่นเกมที่ร้านเกมในหมู่บ้านทั้งเพื่อความสนุกและพนันเงิน รวมทั้งยังนิยมพนันบอลด้วยจำนวนเงินหลักหมื่นด้วย” พื้นที่สาธารณะภายในชุมชนหลัง 6 โมงเย็นจนถึงกลางดึกจึงเต็มไปด้วยเด็กและเยาวชนชายทั้งยังเรียนหนังสือ ทำงานแล้ว และไม่เรียนหนังสือและทำงานนั่งตั้งวงดื่มเหล้ากันหลังเล่นบอลเสร็จ จนเป็นที่มาของการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ในเด็กๆ ที่ได้วัยรุ่นโตกว่าเป็นแบบอย่าง

ขณะที่เด็กผู้หญิงในชุมชนช่วงเย็นก็จะรวมกลุ่มเฉพาะเพื่อนสนิท 2-3 คนนั่งคุยกันเรื่องแฟนและเรื่องโรงเรียน ไม่ก็คุยโทรศัพท์หรือเปิดเพลงจากโทรศัพท์ฟัง ก่อนแยกย้ายกันกลับบ้านในช่วงค่ำ ต่างจากเด็กและเยาวชนหญิงบางกลุ่มในชุมชนเมืองที่ใช้ชีวิตช่วงค่ำคืนอยู่กับกลุ่มเด็กและเยาวชนชาย ใช้ชีวิตวนเวียนในบริบทของการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เสพยาเสพติด และเพศสัมพันธ์ฉาบฉวย ใช้ชีวิตเยี่ยงสามีภรรยาและเปลี่ยนคู่บ่อย บ้างก็ร้ายแรงขนาดทำแท้ง

ปัญหาเหล่านี้ ผศ.ดร.ปนัดดาระบุว่า จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นมากเมื่อมีรถมอเตอร์ไซด์ในครอบครอง เพราะเด็กและเยาวชนจะนัดหมายรวมตัวกันขับขี่เสมอ โดยปกติจะนัดหมายทุกวัน แต่จะรวมเป็นกลุ่มใหญ่มากในคืนวันศุกร์และเสาร์ เนื่องจากไม่ต้องไปโรงเรียนในวันรุ่งขึ้น ประกอบกับทั้งสองวันนั้นพวกเขาจะนิยมไปเที่ยวสถานบันเทิงด้วย โดยการนัดหมายจะเป็นไปในลักษณะการบอกต่อกันเรื่อยๆ ทั้งในกลุ่มพวกเดียวกันและเด็กต่างกลุ่มที่รู้จักกันผ่านสมาชิกบางคนในกลุ่ม และอีกลักษณะหนึ่งจะบอกข้อมูลนัดหมายผ่านร้านซ่อมและแต่งรถที่เด็กวัยรุ่นเป็นลูกค้าประจำลักษณะการบอกต่อๆ กันเป็นเครือข่ายเรื่อยๆ นี้ทำให้จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็นเครือข่ายทางสังคมที่มีทั้งเด็กและเยาวชนเจ้าประจำและขาจรที่รู้ข่าวโดยบังเอิญเป็นสมาชิกใหม่สนใจเป็นพักๆ สำหรับสมาชิกขาประจำจะมาร่วมเชียร์ พูดคุยแลกเปลี่ยน และมีส่วนร่วมในการแข่งขันรูปแบบต่างๆ เช่น ดูแลรถ ตกแต่ง จัดหารถ จัดหาตัวขี่ จัดเตรียมรถ และส่งข่าวทั้งเรื่องการตั้งด่านของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับ ‘ตัวขี่’ หรือรถของคู่แข่ง เมื่อเด็กและเยาวชนรับรู้ว่ามีการแข่งรถ มีคนเชียร์มาก ตัวแข่งฝีมือดีมีประสบการณ์มากทั้งคู่ และรถแรง พวกเขาก็จะเกิดจินตนาการ ตื่นเต้น เร้าใจ สนุกสนาน และเชื่อว่าประสบการณ์การขี่รถมอเตอร์ไซค์ที่ผ่านมาจะทำให้สามารถหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ พวกเขาจึงตื่นตัวกันมากทั้งในแง่ของการเป็นผู้แข่ง ผู้ชม และผู้เชียร์ประสบการณ์จากกระบวนการจัดเตรียมการแข่งขันทั้งรูปแบบทางการและไม่ทางการ รวมถึงร่วมชมการแข่งขันนั้นทำให้เด็กและเยาวชนเกิดแรงบันดาลใจต้องการปรับแต่งเปลี่ยนแปลงรถมอเตอร์ไซค์ของตนเอง และทดลองขี่ในลีลาหวาดเสียวเหมือนผู้แข่งขัน ดัดแปลงรถ ฝึกปรือฝีมือการขี่รถ โดยเริ่มต้นจากการขี่เร็ว แรง ซ้อมทดลองขี่บนถนนสาธารณะบริเวณที่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เช่น ถนนทางตรงในเวลากลางคืน หรือบริเวณที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติงานอยู่ ทั้งนี้ การปรับแต่งรถมอเตอร์ไซค์ของเด็กและเยาวชนจะมุ่งเน้นความเร็ว ความแรง โดยปรับแต่งเครื่อง ท่อไอเสีย และเรียนรู้ท่าทางการขี่รถเพื่อให้รถพุ่งไปข้างหน้ารวดเร็วอย่างการหมอบตัวลงมาให้ใกล้ชิดกับแฮนด์เพื่อลดแรงต้านของลม ตลอดจนติดตามข้อมูลการจัดแข่งขัน
การซิ่งรถและแต่งรถของเด็กวัยรุ่นนั้นเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งและวิธีการหาเงินมาซื้อหรือตกแต่งรถมอเตอร์ไซค์ บ้างก็ซื้อรถขโมยในราคาเพียง 4,000-5,000 บาท เหมือนดังที่นายตำรวจคนหนึ่งบอกว่าเดี๋ยวนี้รถมอเตอร์ไซค์ขโมยออกขายถึงชายแดนไม่ถึงร้อยละ 20 นอกจากนั้น นายตำรวจที่มีประสบการณ์ปราบเด็กแว้นยังตั้งคำถามว่าทำไมในรถมอเตอร์ไซค์ถึงมีทั้งหิน ขวดเบียร์ ปืน และมีดสปาต้า ซึ่งอารมณ์และความรู้สึกขณะหลบหนีตำรวจของเด็กและเยาวชนจะตื่นเต้น เร้าใจ สนุกสนาน แตกต่างจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เคร่งเครียด ตื่นตัว และคิดตลอดว่าต้องทำด้วยความรัดกุมปลอดภัยที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียหรืออันตรายทั้งในส่วนเจ้าหน้าที่และตัวเด็กวัยรุ่น รวมถึงผู้ใช้รถใช้ถนนอื่นๆ ที่ถึงจะระมัดระวังเพียงใดก็ยังเกิดอันตรายได้เพราะเด็กมุ่งจะหลบหนีอย่างเดียว “ตั้งแต่เป็นตำรวจมา ไม่เคยเห็นเด็กหยุดให้จับแต่โดยดี มีแต่แหกด่าน พุ่งชน เลาะเลี้ยวเข้าช่องโน้นช่องนี้ โอกาสเกิดอันตรายกับคนบริสุทธิ์ก็มีถึงจะทำด้วยความระมัดระวัง”

ยิ่งบวกกับการปกป้องลูกของพ่อแม่ มอเตอร์ไซค์ราคาถูก cc รถที่สูงอยู่แล้วก็มาแต่งให้เร็วแรงขึ้นอีกจากร้านแต่งรถ ก็ทำให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจยากลำบากมาก

“ตำรวจควบคุมตัวเด็กได้แค่ 24 ชั่วโมง ไปสถานพินิจเดี๋ยวก็ปล่อย เด็กไม่กลัว ยิ่งเด็กที่ไม่ได้เรียน ชีวิตเขาไม่กลัวอะไร แต่งสุดขีด บางคนไม่มีเบรค ฝ่าไฟแดงไม่กลัวหรอก ตายก็ตาย”

เด็กและเยาวชนผู้กระทำผิดที่ถูกตำรวจจับและดำเนินคดีส่วนใหญ่เป็นเด็กนอกระบบการศึกษาและไม่มีงานทำ ซ้ำร้ายการไปประกันตัวของพ่อแม่ยังทำให้เด็กออกมากลายเป็นฮีโร่ ขณะแม่บางคนเมื่อรู้ว่าลูกถูกตำรวจจับข้อหาแข่งรถในที่สาธารณะกลางดึกก็กลับให้ท้ายลูกด้วยประโยคเดิม ๆ เช่น “ตำรวจทำเกินไป ลูกฉันแค่ขับรถแข่ง ไม่ได้ไปฆ่าใครสักหน่อย” รถมอเตอร์ไซด์ของขวัญที่แม่ให้จึงอาจกลายเป็นเครื่องมือเปิดไปสู่โลกแห่งความรุนแรงได้ถ้าหากพ่อแม่ไม่คอยควบคุมดูแลลูกให้ใช้ยานพาหนะชนิดนี้ไปในทางที่ถูกที่ควร รวมทั้งให้ท้ายลูกเมื่อตำรวจปฏิบัติตามหน้าที่จับดำเนินคดี ด้วยท้ายที่สุดแล้วถ้าลูกยังคงเป็น ‘นักบิด’ ต่อไป ความเจ็บปวดรวดร้าวชนิดหัวใจสลายคงมาเยือนสักวันหนึ่งแน่นอนจากการประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บหรือกระทั่งเสียชีวิต

เด็กวัยรุ่นมีความต้องการที่จะแสดงออก แต่ในบางครั้งการแสดงออกที่ขาดการควบคุม การแสดงออกที่ติดอยู่กับค่านิยมผิดๆที่ผู้ใหญ่ป้อนให้เพียงเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าเท่านั้น และอีกหนึ่งที่ตอกย้ำให้เด็กทำผิดโดขาดสามัญสำนึกก็คือพ่อกับแม่ที่ไม่เคยมองว่าลูกทำผิดนั่นเอง สองแรงบวกจากรักและโลภทำให้เด็กต้องเดินอยู่ในวังวนของความผิดไปชั่วชีวิต..

2 ความคิดเห็น:

  1. สรุปเก่งจังค่ะ เข้าใจง่ายดีค่ะ ขอบคุณมากๆที่สนใจงานวิจัยนะคะ ถ้าสนใจแลกเปลี่ยนเชิญที่fsocpdk@ku.ac.th จาก อ.ปนัดดาค่ะ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุนมากๆเลยคร้า ^^ เก่งๆๆ

    ตอบลบ